Get Adobe Flash player

อาการ Jet Lag

อาการ Jet Lag

อาการ Jet lag คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเดินทางไกล ซึ่งนับได้ว่าเป็นปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความก้าวหน้าของการเดินทาง ในอดีตมนุษย์ไม่สามารถเดินทางด้วยความเร็วที่มากพอที่จะส่งผลให้กระบวนการในร่างกายมนุษย์เกิดผลกระทบได้ แต่ในการเดินทางปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ที่มีความเร็วสูง หรือการเดินทางด้วยเครื่องบิน ล้วนแต่ส่งผลให้เกิดปัญหากับกระบวนการในร่างกายมนุษย์ซึ่งอาการนี้ถูกเรียกว่า อาการ Jet lag เหตุผลในทางด้านชีววิทยา คือ การที่ระบบในร่างกายมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิต ที่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า circadian rhythm ซึ่งอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า คล้ายกับ นาฬิกาในร่างกายของสิ่งมีชีวิต ซึ่งจะเกิดการสัมผัสหรือรับรู้ตามปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง การขึ้นลงของดวงจันทร์ และการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล หรือสามารถกล่าวได้ว่า circadian rhythm นี้ถูกควบคุมโดยตรงจากการขึ้นลงของดวงอาทิตย์ในทุกๆ วัน

จากการศึกษาในด้าน Chronobiology (การศึกษาในผลกระทบของสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเวลา) สามารถทำให้เข้าใจถึงระบบการทำงานของนาฬิกาในร่างกายของสิ่งมีชีวิตนี้และผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยพื้นฐานแล้ว circadian rhythm จะถูกควบคุมโดยการสัมผัสกับแสงสว่างและความมืด ในช่วงที่ร่างกายได้รับแสงสว่างในเวลากลางวัน แสงสว่างนั้นจะเป็นตัวกระตุ้นปฏิกริยาโดยเริ่มที่ดวงตาของสิ่งมีชีวิตเมื่อสัมผัสกับแสงสว่าง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการรับรู้ไปที่ระบบประสาทของส่วนที่เรียกว่า hypothalamus ที่เป็นส่วนควบคุมให้เกิดกระบวนการทางชีววิทยาต่างๆ มากมายในร่างกายสิ่งมีชีวิต ในทางกลับกันช่วงเวลากลางคืน การที่ร่างกายไม่ได้รับแสงสว่างจะส่งผลให้ส่วนควบคุมนี้ทำหน้าที่ให้เกิดกระบวนการทางชีววิทยาอื่นๆ ขึ้น และเป็นระบบเช่นนี้ไปเป็นประจำทุกวัน ซึ่งกระบวนการ circadian rhythm นี้มีระยะเวลาประมาณ 25 ชั่วโมงในแต่ละวงรอบ ซึ่งใกล้เคียงกับรอบหนึ่งวันตามเวลานาฬิกา ที่มี 24 ชั่วโมง แต่เมื่อ circadian rhythm นี้ถูกรบกวนโดยเหตุการณ์ต่างๆ เช่น การเดินทางข้าม time zone จะส่งผลให้เกิดความผิดปกติขึ้นในร่างกายสิ่งมีชีวิต

สาเหตุเบื้องต้นเกิดจากการที่ circadian rhythm นั้นสามารถส่งผลกระทบโดยตรงกับร่างกายมนุษย์ในทุกส่วนตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า ถึงแม้ความรู้สึกของสิ่งมีชีวิตนั้นจะไม่สามารถสัมผัสถึงความผิดปกตินี้ได้ แต่ในร่างกายจะได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่เพียงแต่จะเป็นส่วนที่ควบคุมการนอนหลับหรือการตื่นเท่านั้น circadian rhythm ยังมีส่วนในการควบคุม อุณหภูมิของร่างกาย, ความดันโลหิต, ระบบย่อยอาหาร, การสร้างยูรีน, การสร้างฮอร์โมนต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งหมายความว่าเมื่อมนุษย์เดินทางในระยะทางไกล และใช้เวลานาน จะทำให้นาฬิกาภายในกับเวลาตามดวงอาทิตย์คลาดเคลื่อนกันออกไป เมื่อเกิดคลาดเคลื่อนของเวลาขึ้น ร่างกายมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตจะพยายามที่จะดำเนินทุกอย่างไปตามเดิม ซึ่งในความเป็นจริงเวลานั้นได้คลาดเคลื่อนออกไปแล้ว แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแต่ละคนจะมากหรือน้อยแตกต่างกันออกไป แต่โดยทั่วไปแล้วมนุษย์จะสามารถปรับตัวกับเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปได้ภายใน 1 วัน สำหรับการแก้ไขอาการ Jet lag หรือการปรับสภาพนาฬิกาภายในนั้นอาจกระทำได้โดยการควบคุมเวลาการรับประทานอาหารตามเวลา, พยายามให้ร่างกายสัมผัสกับแสงอาทิตย์, รักษาระดับน้ำในร่างกาย, ออกกำลังกายหรือบริหารร่างกาย และพยายามพักผ่อนให้เพียงพอ


แหล่งที่มา  :  thaiaero.com